BumQ 4

วิธีตรวจง่ายๆก่อนสายเกินแก้ ตอนที่ 1

วิธีตรวจง่ายๆก่อนสายเกินแก้ ตอนที่ 1
คุณมีความเสี่ยงต่อโรคที่ยังไม่แสดงอาการนี้หรือไม่
บาร์บารา บิตเนอร์ ตื่นเต้นอย่างยิ่ง เมื่อความฝันอยากทำงานราชการกำลังใกล้เป็นจริง ขณะนั้นเธออายุได้ 22 และหวังว่าจะได้ไปทำงานประจำในประเทศละตินอเมริกา เธอผ่านการทดสอบความถนัดและด้านจิตวิทยาแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนสุดท้าย คือ การตรวจร่างกาย สัปดาห์ต่อมาบิตเนอร์ได้รับแจ้งว่าผลตรวจเลือดของเธอผิดปกติและแนะนำไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไต ซึ่งบอกเธอหลังการตรวจว่า
"คุณมีเนื้อไตดีเหลือเพียง 30% อาการน่าเป็นห่วงนะครับ"
บิตเนอร์ตกใจ "แต่ฉันรู้สึกปกติดี"
หมอชี้แจงว่า "โรคไต มักไม่แสดงอาการ จนกว่าจะถึงระยะสุดท้าย"
บิตเนอร์ไม่รู้ตัวว่าเคยมีอาการเตือนเมื่อหลายปีก่อน จากการตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะและความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นอาการแรกบ่งชี้ของโรคนี้ หมอสั่งให้เธอลดน้ำหนักประมาณ 5 กิโลกรัม แต่คนอื่นไม่ได้ตรวจต่อ เมื่อไตเสียอย่างถาวรเช่นนี้ เธอจึงเป็นห่วงเรื่องสุขภาพมากกว่าเรื่องไม่ได้งาน

หมอให้ยาควบคุมความดันโลหิตและแนะนำให้ควบคุมอาหารรสเค็ม ให้รับประทานแต่อาหารที่มีโพแทสเซียมต่ำ สองปีหลังการวินิจฉัย เมื่อบิตเนอร์พบว่าไตไม่สามารถทำงานได้อีกต่อไป เธอจึงต้องเริ่มล้างไตที่บ้านทุกคืน โดยต่อท่อจากเครื่องล้างไตเข้ากับท่อที่ผ่าตัดต่อเข้าช่องท้อง และใช้เวลา 8 ชั่วโมงเพื่อฟอกโลหิตให้ปราศจากสารพิษ

บิตเนอร์ยังคงทำงานอย่างเข้มแข็งเต็มเวลาและไปเรียนภาคค่ำ แต่เมื่ออาการแย่ลง เธอจึงได้รับการปลูกถ่ายไตในเดือนต่อมา ทุกวันนี้เธอยังทำงานสม่ำเสมอ และเมื่อเร็วๆนี้ ก็เข้าแข่งกีฬาสามประเภทในการแข่งขันกีฬาของผู้ปลูกถ่ายอวัยวะโลกที่กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี เธอกล่าวว่า "ฉันใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ให้สมกับที่เกิดมา"

หากแพทย์ไม่มองข้ามผลการตรวจปัสสาวะของเธอ บิตเนอร์อาจรู้ว่าเป็นโรคเร็วกว่านี้และสามารถยืดเวลาล้างไตหรือเปลี่ยนไตออกไปได้ สมัยนี้การตรวจโรคไตในระยะแรก อาจทำได้เองที่บ้าน ต่อไปนี้ คือ สิ่งที่คุณและคนที่คุณห่วงใยควรรู้เกี่ยวกับโรคและการตรวจรักษาเพื่อหาทางป้องกันก่อนสายเกินแก้

(อ่านต่อที่ " วิธีตรวจง่ายๆก่อนสายเกินแก้ ตอนที่ 2 " )